รู้ลึกเรื่อง API เวอร์ชั่นเข้าใจง่าย

เวลาไปหาข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันเครื่อง หนึ่งในมาตรฐานสากลที่แบรนด์มักนำมาการันตีว่าน้ำมันเครื่องมีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับก็คือ ค่า API แต่ความจริงแล้วมาตรฐานนี้มีที่มายังไง และควรใช้แบบไหนให้เหมาะกับรถของคุณ ครั้งนี้วาโวลีนขอมาไขข้อข้องใจให้ครับ
API คืออะไร?
API ย่อมาจาก American Petroleum Institute เป็นหน่วยงานทดสอบคุณภาพน้ำมันเครื่อง
ทั้งเรื่องการหล่อลื่น การระบายความร้อน การชะล้างทำความสะอาด ฯลฯ และทำการแบ่งเกรดเป็นระดับต่างๆ
โดยน้ำมันเครื่องแต่ละรุ่นต้องผ่านการทดสอบตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้ผู้ใช้มั่นใจได้ว่าน้ำมันเครื่องรุ่นนั้นๆ
มีคุณภาพที่ดีจริง และจะมีการเพิ่มระดับการแบ่งเกรดให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เหมาะกับเครื่องยนต์ที่มีการพัฒนาขึ้นด้วยเช่นกัน โดยแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ API S และ API C
API S และ API C ต่างกันอย่างไร?
กลุ่มที่ 1 คือ API S มาจาก Spark Ignition หรือการจุดระเบิดด้วยประกายไฟจากหัวเทียน ใช้วัดคุณภาพน้ำมันเครื่องยนต์เบนซิน
กลุ่มที่ 2 คือ API C มาจาก Compression Ignition หรือการจุดระเบิดด้วยแรงอัด ใช้วัดคุณภาพน้ำมันเครื่องยนต์ดีเซล
ความเหมือนกันของมาตรฐานทั้ง 2 แบบนี้ก็คือ หลังตัว S และ C จะมีตัวอักษรห้อยท้ายไล่จาก A, B, C,... เช่น API SA, API SB หรือ API CA, API CB ซึ่งเกรด A จะมีคุณภาพต่ำที่สุด แต่ API C จะพิเศษขึ้นมาหน่อย คือบางครั้งจะมีเลข 4 ต่อท้าย เช่น API CF-4 หมายถึงเหมาะที่จะใช้กับเครื่องยนต์ 4 จังหวะเท่านั้น นอกจากนั้น น้ำมันเครื่องบางชนิดอาจใช้ได้ทั้งเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล เช่น API SL / CG-4 แต่นำ S ขึ้นก่อนเพราะเกรดคุณภาพทางเบนซินเหนือกว่า
เลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มี API อย่างไรให้เหมาะกับรถ?
การเลือกใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐาน API
สามารถเทียบได้จากปีที่ผลิตรถยนต์ตามตารางด้านล่าง โดยช่างวาโวลีนแนะนำว่าไม่ควรใช้น้ำมันเครื่องที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่รถรุ่นนั้นควรใช้
เช่น รถเครื่องยนต์เบนซินที่ผลิตในปี 2011 เป็นต้นไป ควรใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐาน API
SN แต่ไม่ควรใช้น้ำมันเครื่องที่มีมาตรฐานต่ำกว่าอย่าง API SM, API SL และ API SJ


มาตรฐาน API ของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ปัจจุบัน มาตรฐานสูงสุดของน้ำมันเครื่องยนต์เบนซินจะอยู่ที่ API-SN+ เน้นเรื่องการประหยัดเชื้อเพลิงสูง, ปกป้องเทอร์โบชาร์จ และปกป้องระบบควบคุมการปล่อยไอเสียได้ดี
ส่วนในฝั่งเครื่องยนต์ดีเซลจะมีมาตรฐานสูงสุดตามสากลอยู่ที่ API CK-4 แต่สำหรับในไทยยังใช้มาตรฐาน API CI-4 และ API CJ-4 สำหรับเครื่องยนต์ 4 จังหวะ
เป็นเกรดที่ออกแบบมาให้สอดคล้องกับมาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงการปล่อยไอเสียเป็นหลักคล้ายกับ API-SN+ เช่น ต้องมีคุณสมบัติที่ดีในการรับมือกับเขม่า และควบคุมการสะสมสิ่งสกปรกบริเวณลูกสูบได้ดี
สรุปแล้ว คุณสามารถเช็กมาตรฐาน API ได้บนฉลากของน้ำมันเครื่อง ซึ่งมี 3 สิ่งที่ต้องสังเกตคือ...
- มาตรฐาน API เป็นมาตรฐานหนึ่งที่บอกได้ถึงคุณภาพของน้ำมันเครื่อง
- สังเกตที่ตัวอักษรหลัง API เป็นหลัก S ใช้กับเครื่องยนต์เบนซิน C ใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล ที่สำคัญคือตัวอักษรที่อยู่ท้ายสุด ไล่จาก A-Z ตัวอักษรยิ่งใกล้ตัว Z ยิ่งมาตรฐานสูงขึ้น
- ตรวจสอบตารางและเอกสารคู่มือประจำรถว่ารถของคุณควรใช้น้ำมันเครื่องที่มี API เกรดไหน และไม่ควรใช้เกรดต่ำกว่านั้น